ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาก็มีหลายฝ่ายจากรัฐบาลร่วมมือกับบรรดาห้างร้านต่างๆ ได้มีการงดใช้ถุงพลาสติก โดยให้ใช้ถุงผ้าทดแทน ในการใส่สินค้าให้กับลูกค้า เนื่องมาจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาต่อเนื่องอันมาจากขยะพลาสติกมากมาย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้...
"วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือ จะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้ว ที่ใช้จริง ๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้สำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่า น้ำที่สะอาด"
จากพระราชดำรัสของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นจุดเคลื่อนไหวในการดำเนินงาน เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน ในการสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม เพื่อสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาครัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับแรก โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมและรณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง สำหรับภาคเอกชนได้เริ่ม ให้ความสำคัญ เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยมีการคำนึงถึง เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนกระบวนการผลิตต่างๆ โดยมีการริเริ่มโครงการอนุรักษ์ และพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมส่วนรวม ของประเทศตลอดจนได้มี การจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในรูปของมูลนิธิ ชมรม สมาคม เป็นต้น
โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินงานการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้มีจิตสำนึกในการเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความรู้สึกร่วมกันของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม อันจะแสดงให้เห็ถึงการรวมพลังของประเทศ เพื่อร่วมกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ให้กำหนดวันที่ ๔ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เสนอ
ขอบคุณที่มา http://www.lib.ru.ac.th/journal/dec/dec04-ThaiEnvironment.html